การประชุมทางวิชาการระหว่างศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศฮังการี และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ (ELTE) ในระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนถึง ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ณ ประเทศฮังการี (05/12/2566)


เมื่อวันศุกร์ที่  ๑ ธันวาคม  ๒๕๖๖  ดร.ปัญญา  อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะ มีกำหนดเดินทางไปราชการต่างประเทศเพื่อประชุมทางวิชาการในการจัดทำงานวิจัยร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ (ELTE) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ก่อตั้งปี ค.ศ. ๑๖๖๗ และมีชื่อเสียงอันดับที่หนึ่งของประเทศฮังการี  โดยมี Prof.Dr.Pal Sonnevend คณบดี Faculty of Law, Eotvos Lorand University และคณะ ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุมทางวิชาการในการจัดทำงวิจัยร่วมกันในหัวข้อ "ความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในการร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ” ซึ่งผลการประชุมทางอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ (ELTE) มีความยินดีร่วมทำวิจัยดังกล่าวโดยจะรับผิดชอบการเขียนงานวิจัยในบทที่ว่าด้วยภาคพื้นยุโรป ประกอบด้วย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ราชอาณาจักรสเปน ประเทศฮังการี  สาธารณรัฐโปแลนด์ สาธารณรัฐอิตาลี เป็นต้น

ในการนี้ได้มอบพระไตรปิฎกฉบับสากล  และงานวิจัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ห้องสมุดด้วย 

วันจันทร์ที่  ๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ ดร.ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะ เดินทางไปร่วมประชุมทางวิชาการในการจัดทำงานวิจัยร่วมกันในหัวข้อดังกล่าวกับศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศฮังการี โดยได้รับการต้อนรับจาก  Dr.Tamas SULYOK  ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศฮังการี และคณะ โดยท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศฮังการีมีความยินดีร่วมจัดทำวิจัยร่วมกันในบทที่ว่าด้วย Constitutional Compliant of Hungary โดยท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญฮังการีจะรับผิดชอบในการเขียนด้วยตนเอง นอกจากการประชุมทางวิชาการแล้วยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อาทิเช่น ประวัติความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศอังการี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศฮังการีได้จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ มีองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  จำนวน  ๑๕ คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๑๒ ปี และจุดที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศฮังการี คือความมีอิสระในด้านงบประมาณ หากศาลรัฐธรรมนูญถูกตัดงบประมาณโดยรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเสนอขอจัดสรรงบประมาณต่อรัฐสภาได้โดยตรงและจะได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่น้อยกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ตามรัฐบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๒๐๑๑ มาตรา  ๔ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่ ๒ ของโลกที่มีกฎหมายด้านงบประมาณเฉพาะรองรับเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมีนีที่ถือว่าเป็นแห่งแรกของโลกที่มีความอิสระด้านงบประมาณตามรัฐบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๖๙ ดังนั้น ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ควรจะมีกฎหมายงบประมาณเฉพาะร่วมกันเพื่อประกันความเป็นอิสระของศาลแห่งราชอาณาจักรไทยในอนาคต