การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจีย ในระหว่างวันที่ ๔ - ๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ ประเทศจอร์เจีย (09/10/2566)


เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดเดินทางไปราชการต่างประเทศเพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจีย  ทั้งนี้ Professor Dr. Marab Turava, ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจียได้ให้การต้อนรับพร้อมร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ โดยมีรองประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจียร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการของศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจีย ผู้แทนจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องรับรองชั้น ๒ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจีย เมืองบาทูมิ

จากเหตุการณ์ชุมนุมของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องการประกาศแยกตัวเป็นเอกราชของประเทศจอร์เจีย ในปี ค.ศ. ๑๙๘๙  และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๑ จึงมีประเทศเกิดขึ้นใหม่ รวมจำนวน ๑๕ ประเทศ ในบรรดาประเทศเหล่านี้ได้มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลลักษณะพิเศษถึงจำนวน ๑๓ ประเทศ มีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งศาลลักษณะพิเศษเช่นเดียวกัน สืบเนื่องจากเผด็จการโดยรัฐสภาของสหภาพโซเวียตในอดีตที่ผ่านมา ประเทศเอกราชใหม่ดังกล่าวจึงมีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐสภาและป้องกันมิให้ปัญหาเผด็จการของรัฐสภาเกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจียได้จัดตั้งขึ้น ในปี ค.ศ. ๑๙๙๖ โดยมีจุดเด่นในการทำหน้าที่เสมือนผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในทางปฏิฐาน (Positive Legislator) และมีการแต่งตั้งหมุนเวียนตุลาการเจ้าของสำนวนคดี (Reppporteur Judge) สนับสนุนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการศึกษาค้นคว้าและจัดทำรายงานสำนวนคดี เพื่อประกอบการอภิปรายและวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นับเป็นมาตรฐานสากลที่ควรนำมาพัฒนาศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอนาคต

นอกจากนี้ ในวันเสาร์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะผู้แทนจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เดินทางไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้แทนจากคณะนิติศาสตร์ Ivane Javakhishvili Tbilisi State University ณ กรุงทบิลีซี ประเทศจอร์เจีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดของประเทศจอร์เจีย โดย Associate Professor Dr.Giorgi Dgebuadze รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ อาจารย์ทางด้านกฎหมายอาญา และนักศึกษาระดับชั้นดุษฎีบัณฑิต ร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้มอบงานวิจัยทางด้านรัฐธรรมนูญให้กับห้องสมุดคณะนิติศาสตร์เพื่อเผยแพร่ผลงานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาและนักวิจัยต่อไป