การจัดประชุมทางวิชาการเนื่องในโอกาสศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อตั้งครบ ๒๕ ปี (10/04/2566)


ด้วยวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๖ เป็นวันครบ ๒๕ ปี ของการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงจัดประชุมทางวิชาการขึ้น ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร 

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบนายอรรถนิติ  ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์มาเป็นประธานในการเปิดประชุมทางวิชาการครั้งนี้ โดยมี ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ หรือผู้แทน รวม ๔ ชาติ ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศมองโกเลีย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รอรับผู้แทนพระองค์ ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

สำหรับกำหนดการประชุมทางวิชาการดังกล่าว มีดังนี้
- เวลา ๑๑.๐๐ - ๑๑.๓๐ น. ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” โดย นายชวน หลีกภัย

- เวลา ๑๑.๓๐ - ๑๔.๒๐ น. ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "The Constitutional Court on the Protection of the People’s Rights and Liberties” โดย ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศมองโกเลีย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย

- เวลา ๑๔.๒๐ - ๑๖.๓๐ น. เป็นการประชุมทางวิชาการ หัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน  ๔  ท่าน ได้แก่ (๑) ดร.ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (๒) ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ  ภักดีธนากุล (๓) ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ (๔) ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ  ดำเนินรายการโดย  นายบุญเสริม  นาคสาร รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ในเวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. มีพิธีลงนามข้อตกลง (MOU) ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกับศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศมองโกเลีย และพิธีปิดการจัดงานเวลา ๑๖.๓๐ น. โดย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

การจัดงานทางวิชาการในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะได้พัฒนาบทบาทและขยายความร่วมมือทางวิชาการ โดยจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU)  กับศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศมองโกเลีย  เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๖๖ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศมองโกเลียเป็นประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) และในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๖๘ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะรับหน้าที่ในการเป็นประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ต่อจากศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศมองโกเลีย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน ๒๑ ประเทศ ดังนั้น ระยะเวลา ๓ ปีนับจากนี้ไป บทบาทการเป็นผู้นำการพัฒนาทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในเวทีระหว่างประเทศจะเด่นชัดขึ้นและจะมีการขับเคลื่อนการดำเนินการกิจกรรมทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะได้พัฒนาทางวิชาการระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศและสถาบันเทียบเท่าให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นต่อไป