เปลี่ยนการแสดงผล
 
ข่าวศาลรัฐธรรมนูญ
การเข้าร่วมการประชุมระดับสูงระหว่างประเทศ หัวข้อ “การเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” และการประชุมสภาร่วมว่าด้วยความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒๑ ของคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อประชาธิปไตยผ่านกฎหมาย (คณะกรรมาธิการเวนิส) ณ กรุงเยเรวาน สาธารณรัฐอาร์เมเนีย ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
วันที่ 21 พ.ย. 2567

                    การประชุมระหว่างประเทศระดับสูง หัวข้อ "การเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นความสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อการคุ้มครองหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนทั้งในเขตอำนาจศาลภายในประเทศและเขตอำนาจศาลระหว่างประเทศ โดยเป็นการรวบรวมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงาน สมาชิกคณะกรรมาธิการเวนิสและผู้แทนจากสภาแห่งยุโรปเพื่อเสวนาเชิงลึกเกี่ยวกับการเคารพต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจากสังคมและภาคส่วนต่าง ๆ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างระบบกฎหมายภายในประเทศกับกรอบความร่วมมือตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในยุคสมัยที่สิทธิมนุษยชนมีความเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทในการตีความและใช้บังคับหลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าวภายใต้บริบทภายในประเทศ สำหรับสุนทรพจน์หลักและการอภิปรายแบบคณะในลำดับถัดมานั้น จะเป็นการศึกษาถึงผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อคำสั่งทางกฎหมายภายในประเทศ การเสริมสร้างการเสวนาระหว่างศาลและการประสานความขัดกันระหว่างระบบกฎหมายภายในประเทศกับระบบกฎหมายระหว่างประเทศ

                   อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการประชุมคือ การสำรวจว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในฐานะรอยต่อระหว่างคำสั่งทางกฎหมายภายในประเทศด้านสิทธิมนุษยชนกับคำสั่งทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยการอภิปรายจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของศาลในการใช้บังคับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสนธิสัญญาอื่น ๆ โดยเฉพาะมาตรฐานสำหรับหลักสิทธิมนุษยชนของประเทศภูมิภาคยุโรป ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เข้าถึงความซับซ้อนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปที่สามารถผ่านพ้นอุปสรรคและประสานกันผ่านการเสวนาระหว่างศาล การวิเคราะห์การเคารพและรูปแบบการใช้บังคับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในประเทศภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะในประเด็นการถ่วงดุลระหว่างการเคารพทางการเมืองกับการมีผลใช้บังคับของคำวินิจฉัยดังกล่าว การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในบริบทของหลักนิติธรรมตามเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการเวนิสและแนวปฏิบัติของเขตอำนาจศาลภายในประเทศเกี่ยวกับการใช้บังคับ และผลกระทบของสื่อมวลชนหรือสื่อออนไลน์ต่อการพิจารณาและพิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การจำกัดเสรีภาพตุลาการในการแสดงความคิดเห็นและความท้าทายจากภาคส่วนอื่นและความเห็นสาธารณะ

                   การจัดการประชุมในครั้งนี้ ผู้อำนวยการและเลขานุการคณะกรรมาธิการเวนิสได้มีหนังสือกราบเรียนเชิญประธานศาลรัฐธรรมนูญเข้าร่วมการประชุมระดับสูงระหว่างประเทศ หัวข้อ "การเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งการประชุมดังกล่าวคณะกรรมาธิการเวนิส ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอาร์เมเนีย และฝ่ายอนุวัติมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และความร่วมมือทางกฎหมายภายใต้สังกัดแผนกสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมแห่งสภายุโรปร่วมกันจัดขึ้น โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยและสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ผู้อำนวยการและเลขานุการคณะกรรมาธิการเวนิส ได้เรียนเชิญผู้แทนจากสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียเข้าร่วมการประชุมสภาร่วมว่าด้วยความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒๑ ของคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อประชาธิปไตยผ่านกฎหมาย (คณะกรรมาธิการเวนิส) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอาร์เมเนียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยในการประชุมดังกล่าวมีการอภิปรายเกี่ยวกับฐานข้อมูล CODICES จดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับกฎหมายอันมีที่มาจากคดีรัฐธรรมนูญ การประชุมเวนิส การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (WCCJ) และการจัดสัมมนาร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญ

                    ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงระหว่างประเทศหัวข้อ "การเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ณ กรุงเยเรวาน สาธารณรัฐอาร์เมเนีย 

                    ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมการอภิปราย หัวข้อ "แนวทางการอนุวัติคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” (Ways of Implementation of the Decisions of Constitutional Courts)

                    นางฉัตรแก้ว เลิศไพฑูรย์  ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหาร รักษาราชการแทนรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เข้าร่วมการประชุมสภาร่วมว่าด้วยความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒๑ ของคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อประชาธิปไตยผ่านกฎหมาย (คณะกรรมาธิการเวนิส) และได้รายงานกิจกรรมผลการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการทำหน้าที่ประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ณ กรุงเยเรวาน สาธารณรัฐอาร์เมเนีย

 
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์)
เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่
กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ : 02-141-7603
โทรสาร : 02-143-9515
อีเมล์ : con_coll@hotmail.com
หน้าหลัก เกี่ยวกับวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ ดาวน์โหลด