เปลี่ยนการแสดงผล
 
ข่าวศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แถลงปฏิญญากรุงเทพมหานคร (Bangkok Declaration) เสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
วันที่ 19 ก.ย. 2567

วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗ ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมใหญ่สมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ ๖ ในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเวทีการประชุมระหว่างประเทศภายใต้กรอบการดำเนินการของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย นำเสนอบทความในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ของบรรดาประเทศสมาชิก (Members) ผู้สังเกตการณ์ (Observers) และแขกผู้ได้รับเชิญ (Guests) โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย จำนวน ๑๔ ประเทศ  และกลุ่มภูมิภาคศาลรัฐธรรมนูญอีก ๔ ภูมิภาค  เข้าร่วมการประชุมตั้งแต่วันที่ ๑๗ ถึงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๗ รวมเวลา ๕ วันเต็ม

ในระหว่างการประชุมศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในฐานะประธานการประชุม และประเทศสมาชิกสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ได้ร่วมกันจัดทำปฏิญญากรุงเทพมหานคร (Bangkok Declaration) สาระสำคัญคือการยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งแยกอำนาจ การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และความจำเป็นของหลักความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานของความยุติธรรม สันติภาพ และเสถียรภาพในสังคมโลก ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้คำนึงถึงบทบาทอันสำคัญของความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในการส่งเสริมสนับสนุนสังคมให้มีความยั่งยืนด้วยการยึดหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นในการจัดการกับปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การบริหารจัดการทรัพยากร และความยุติธรรมทางสังคม นอกจากนี้ สมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคารพและร่วมมือซึ่งกันและกันด้วยการปรับเปลี่ยนกรอบการทำงานตามรัฐธรรมนูญเพื่อความท้าทายใหม่ ๆ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและประกันการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แม้ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนและสันติภาพ รวมถึงการให้ความสำคัญของการประกันในการเข้าถึงความยุติธรรม ในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรักษาสันติภาพที่ยั่งยืนและเสถียรภาพในสังคมรัฐ เพื่อที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและส่งเสริม "ความยุติธรรมทางสภาพอากาศ (Climate Justice)” ในการนี้ สมาคมฯ ขอแสดงความปรารถนาดีสำหรับความสำเร็จต่อสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ ๒๙ (COP ๒๙)

อนึ่ง ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการสมาชิกสมาคม AACC (BoMM) ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการส่งเสริมความยุติธรรม สันติสุข และสิทธิมนุษยชน รวมถึงการร่วมกันไม่สนับสนุนต่อการกระทำใด ๆ อันเป็นภัยแก่ชีวิต ความมั่นคง เสรีภาพ ตลอดจนศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคลและประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่สังคมที่สันติและยั่งยืน และได้แสดงความห่วงใยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ ปาเลสไตน์  ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า สมาชิกสมาคมฯ จะร่วมกันไม่สนับสนุนต่อการกระทำใด ๆ อันเป็นภัยแก่ชีวิต ความมั่นคง เสรีภาพ ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งรวมถึงชาวปาเลสไตน์ 

สมาชิกสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียมีจุดยืนร่วมกันในการอุทิศตนให้แก่หลักความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนให้ประชาคมมีความกว้างขวางขึ้น เพื่อความเป็นธรรมและโลกที่เท่าเทียม มุ่งมั่นสู่เป้าหมายร่วมกัน เสริมสร้างความร่วมมือกับศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งอื่นในระดับโลกต่อไป โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการเวนิสและสถาบันสหประชาชาติ รวมถึงความร่วมมือในระดับระหว่างภูมิภาคและในภูมิภาคของสมาคมอื่นและประชาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งเสริมหลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เด่นชัดในการเป็นผู้นำการพัฒนาทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงความสำเร็จของการจัดการประชุมใหญ่ (Congress) และการประชุมคณะกรรมการสมาชิก (BoMM) ในประเทศไทย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียต่อไปในอนาคต 

นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ก่อให้เกิดการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) และการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภูมิภาคไอเบอโร - อเมริกา (CIJC) และการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศมองโกเลียกับศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน สำหรับการประชุมในคราวต่อไปศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานรับเป็นประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ ๗ (ปี ๒๐๒๕-๒๐๒๗) ต่อจากประเทศไทย และศาลสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รับเป็นประธานสมาคมฯ ครั้งที่ ๘ (ปี ๒๐๒๗-๒๐๒๙) อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการผลักดันหลักความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมใหญ่ (Congress) ครั้งนี้
 
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์)
เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่
กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ : 02-141-7603
โทรสาร : 02-143-9515
อีเมล์ : con_coll@hotmail.com
หน้าหลัก เกี่ยวกับวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ ดาวน์โหลด