วันพุธที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ ๖ โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประธานศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย จำนวน ๑๔ ประเทศ และกลุ่มภูมิภาคศาลรัฐธรรมนูญอีก ๔ ภูมิภาค คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รอรับผู้แทนพระองค์ ณ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพมหานคร
จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมใหญ่ (Congress) (Opening Remarks) ซึ่งเป็นการจัดประชุมระหว่างประเทศภายใต้กรอบการดำเนินการของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอบทความในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ของบรรดาประเทศสมาชิก (Members) ผู้สังเกตการณ์ (Observers) และแขกผู้ได้รับเชิญ (Guests) และได้รับเกียรติจากนายจานนี บุคูอือโจ (Mr.Gianni Buquicchio) ประธานกิตติมศักดิ์ ผู้แทนพิเศษของคณะกรรมาธิการเวนิส กล่าวในวาระพิเศษ (Special Remarks) ผ่านวีดิทัศน์อีกด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในฐานะประธานการประชุม ได้กำหนดหัวข้อหลัก (Theme) ในการประชุม คือ "ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” และกำหนดหัวข้อย่อย (Subthemes) จำนวน ๓ หัวข้อ และในฐานะประธานการประชุมมีสิทธิที่จะเสนอชื่อบุคคลจำนวน ๓ คน เพื่อให้ทำหน้าที่ประธานการประชุมหัวข้อย่อยได้โดย ๓ หัวข้อย่อยที่กำหนด ได้แก่
(๑) บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยมีนายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม (Co-chairperson)
(๒) พัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อความยุติธรรมที่ยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยมีศาสตราจารย์ ดร. อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นประธานร่วมในการประชุม (Co-chairperson)
(๓) ความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในฐานะรากฐานของการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร. จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม (Co-chairperson)
โดยศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะดำรงตำแหน่งประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๘ และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นการประชุมวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญระดับนานาชาติครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และในวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในฐานะประธานการประชุม จะดำเนินการจัดทำปฏิญญากรุงเทพมหานคร (Bangkok Declaration) เพื่อทำการลงนามรับรองจากคณะกรรมการสมาชิกในการประชุมคณะกรรมการสมาชิกในวันสุดท้าย (Final BoMM) และออกแถลงการณ์ร่วมกันในพิธีปิดการประชุมใหญ่ดังกล่าว นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เด่นชัดในการเป็นผู้นำการพัฒนาทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงความสำเร็จของการจัดการประชุมใหญ่ (Congress) และการประชุมคณะกรรมการสมาชิก (BoMM) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเวทีทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น คำวินิจฉัยและประเด็นข้อกฎหมายระหว่างศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศหรือองค์กรตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะจัดการแถลงข่าว (Press Conference) ต่อสื่อมวลชนต่อไป ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพมหานคร |